ภาษีกับธุรกิจ Affiliate กรณีศึกษา

ภาษีกับธุรกิจ Affiliate กรณีศึกษา

ธุรกิจ Affiliate Marketing โดยทั่วไปแล้วจะตีความได้ว่า เป็นเงินในประเภทที่ 2 ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40 (2)

  • ซึ่งเป็นประเภทค่านายหน้า หรือ ค่าคอมมิชชั่น
  • ต้องยื่นแบบเสียภาษี ภงด.90 ในประเทศไทย
  • โดยอัตราภาษีบุคคลธรรมดา จะเป็นในรูปแบบขั้นบันได
  • สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้สูงสุด 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

*อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2563

ภาษเงินได้ Affiliate

อ้างอิง: ประมวลรัษฎากรมาตรา 40 (2)

เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้นั้นไม่ว่าหน้าที่ หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว
แนวทางการวางแผนภาษี: กรณีทำงาน Affiliate กับบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย

1. หากรายได้ต่อปียังไม่สูงมาก

  1. พิจารณาซื้อประกันออมทรัพย์ สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท
  2. พิจารณาซื้อกองทุน SSF สามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ และไม่เกิน 200,000 บาท
  3. พิจารณาซื้อกองทุน RMF สามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท

2. หากรายได้ต่อปีสูงกว่า 1.8 ล้าน

  • จำเป็นต้องจดทะเบียน "ภาษีมูลค่าเพิ่ม"
  • อาจพิจารณาจดนิติบุคคล เพื่อให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง และจะเสียภาษีเพียง 20% จากผลกำไร

*อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีนิติบุคคล

กรณีศึกษา: แนวทางวางแผนภาษี กรณีทำงาน Affiliate กับโบรกเกอร์ต่างประเทศ

สิทธิประโยชน์ตามหลักแหล่งเงินได้

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศ จะเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย
ต่อเมื่อเข้าองค์ประกอบ ครบทั้ง 2 เงื่อนไข นี้เท่านั้น
  1. ผู้มีเงินได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 180 วันในปีภาษีนั้น
  2. ผู้มีเงินได้นำเงินได้ดังกล่าว เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้น
*หากไม่ครบทั้ง 2 เงื่อนไขนี้ เงินได้ดังกล่าวก็จะได้รับการยกเว้นภาษี


กลยุทธ์ที่สามารถใช้ได้
  1. อาศัยอยู่ในประเทศไทยน้อยกว่า 180 วันในปีภาษีนั้น
  2. การพักเงินไว้ในต่างประเทศ แล้วรอข้ามปีก่อน จึงค่อยโอนเข้ามาประเทศไทย

*ข้อควรระวัง

1. การเปิดบัญชีธนาคารในต่างประเทศ เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
  • กรณีที่ชาวต่างชาติจะเปิดบัญชีธนาคารในต่างประเทศ มักต้องใช้เอกสาร Work Permit หรือ Employment Pass
  • เงินฝากขั้นต่ำในการเปิดบัญชีค่อนข้างสูง โดยทั่วไปอาจสูงกว่า $10,000

2. การพักเงินไว้ในโบรกเกอร์ต่างประเทศ
  • กรณีดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงที่จะสูญเงิน หากโบรกเกอร์ในต่างประเทศ เกิดการขาดสภาพคล่อง
  • ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ โบรกเกอร์หลายแห่งปิดตัวลง เพราะปัญหาหนี้สิน ทำให้ถอนเงินออกมาไม่ได้

3. การขาดสภาพคล่อง
  • การพักเงินไว้ในต่างประเทศเป็นปี อาจส่งผลให้ธุรกิจขาดสภาพคล่อง
  • ซึ่งส่งผลให้มีเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย

4. อัตราแลกเปลี่ยนที่ควบคุมไม่ได้
  • การพักเงินไว้ในต่างประเทศเป็นปี มักส่งผลให้เงินทุนสะสมเป็นยอดที่สูง
  • หากปีถัดไปเงินบาทแข็งค่า รายได้ของคุณก็จะลดลง

5. การพิจารณาหลักแหล่งเงินได้ ต้องมีความชัดเจนว่าเป็นแหล่งเงินได้จากต่างประเทศ
  • โปรดดูตัวอย่างหลักเกณฑ์ การพิจารณาหลักแหล่งเงินได้จากหัวข้อด้านล่าง


การพิจารณาหลักแหล่งเงินได้ 1: ผู้มีเงินได้ มีสำนักงานในประเทศไทย

  1. ผู้มีเงินได้ มีการก่อตั้งสำนักงาน สำหรับการสอนการเทรดหุ้นต่างประเทศในประเทศไทย
  2. ผู้มีเงินได้ ได้รับเงินค่าคอมมิชชั่น, ส่วนแบ่งกำไรที่จ่ายมาจากบริษัทในต่างประเทศ
  3. บริษัทที่จ่ายเงินได้ ไม่มีสาขาและไม่มีสำนักงานในประเทศไทย
  *กรณีนี้พิจารณาได้ว่า: เป็นแหล่งเงินได้จากประเทศไทย
   เนื่องจากเข้าข่ายหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในประเทศไทย จึงไม่สามารถใช้สิทธิ์ประโยชน์การยกเว้นภาษีได้


การพิจารณาหลักแหล่งเงินได้ 2: ผู้มีเงินได้ ไม่มีสำนักงานในประเทศไทย

  1. ผู้มีเงินได้ ไม่มีสำนักงานในประเทศไทย
  2. ผู้มีเงินได้ นำเสนอโฆษณาโบรกเกอร์ต่างประเทศผ่านทางเว็บไซต์ออนไลน์ โดยมีเซิร์ฟเวอร์ตั้งอยู่ในต่างประเทศ
  3. ผู้มีเงินได้ ได้รับเงินค่าคอมมิชชั่น, ส่วนแบ่งกำไรที่จ่ายมาจาก บริษัทในต่างประเทศ
  4. บริษัทที่จ่ายเงินได้ ไม่มีสาขาและไม่มีสำนักงานในประเทศไทย
  *กรณีนี้พิจารณาได้ว่า: เป็นแหล่งเงินได้จากต่างประเทศ 

  • เนื่องจากบริการทั้งหมด เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยมีลำดับดังต่อไปนี้:
  • ➔ ลูกค้าเข้าไปใช้บริการเว็บไซต์ในต่างประเทศ ➔ ลูกค้าเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับโบรกเกอร์ต่างประเทศ
  • ➔ ลูกค้ามีการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านโบรกเกอร์ต่างประเทศ ➔ โบรกเกอร์ในต่างประเทศได้รับค่าคอมมิชชั่น
  • ➔ โบรกเกอร์ในต่างประเทศจ่ายส่วนแบ่งค่าคอมมิชชั่น ➔ จ่ายมาจากต่างประเทศให้กับผู้มีเงินได้ในประเทศไทย

*การสอบถามความชัดเจนไปยัง กรมสรรพากรภาคสาม: วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2561

การสอบถาม

 แหล่งอ้างอิง
  • ประมวลรัษฎากรมาตรา 40(2)
  • ประมวลรัษฎากรมาตรา 41
  • หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/696 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2530